น้ำมันกัญชาต้องใช้ให้ถูกวิธีวิธี

น้ำมันกัญชาต้องใช้ให้ถูกวิธีวิธี ปัจจุบันมีผู้ใช้น้ำมันกัญชาด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าน้ำมันกัญชาสามารถรักษาได้ทุกโรค เนื่องจากมีผู้ลักลอบผลิต นำเข้าและจำหน่ายนน้ำมันกัญชาอย่างผิดกฏหมายในอินเตอร์เน็ทหลายรายบรรยายสรรพคุณเกินจริงว่า น้ำมันกัญชา สามารถใช้รักษาโรคได้ทุกชนิดทั้งมะเร็ง เบาหวาน ไขมัน ความดัน โรคซึมเศร้า อัลไซเมอร์ พาร์กินสันฯลฯ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วน้ำมันกัญชาไม่ได้มีสรรพคุณในการรักษาโรคดังกล่าวเลย การซื้อน้ำมันกัญชามาใช้เองโดยขาดข้อบ่งชี้การใช้กัญชาทางการแพทย์ อีกทั้งไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของกัญชาไปถึงขั้นตอนการผลิตได้ ทำให้ได้น้ำมันกัญชาคุณภาพต่ำไม่มีสรรพคุณเพียงพอในการช่วยการรักษาแต่กลับทำให้ผู้ใช้น้ำมันกัญชาเกิดผลข้างเคียงอย่างรุนแรง โดยผลข้างเคียงจากการใช้น้ำมันกัญชาที่พบบ่อยคือมีอาการหน้ามืด ใจสั่น ความดันตก เวียนศรีษะ ปากแห้ง อารมณ์เปลี่ยนแปลง บางคนอาจถึงขั้นมีอาการทางจิตประสาท ซึมเศร้า หวาดระแวง จนถึงขั้นประสาทหลอนได้

ตามกฎหมายปัจจุบัน กัญชายังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งล่าสุดได้มีการอนุญาตให้สถาบันหรือองค์กรทางสาธารณสุขสามารถจัดจ้างบุคคลปลูกกัญชาเพื่อนำมาใช้ในงานวิจัยและใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้ และได้มีการออกระเบียบนิรโทษกรรมในเบื้องต้นให้ผู้ป่วยที่ความจำเป็นต้องใช้กัญชาเพื่อการรักษา สามารถครอบครองกัญชาเพื่อใช้รักษาโรคที่มีอยู่เดิมเฉพาะตัวให้เพียงพอใช้ได้ใน 90 วัน ถ้ามียากัญชาไว้ในครอบครองมากกว่าปริมาณที่ต้องใช้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะต้องส่งกัญชาส่วนเกินให้ทางราชการเพื่อทำลายทิ้งทันที หลังจากนี้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาเพื่อการรักษา จะต้องใช้กัญชาที่ได้รับการปลูกหรือนำเข้าตัวยาหรือสารประกอบตัวยาจากกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

ในความจริงแล้ว น้ำมันกัญชา สกัดยังไม่มีงานวิจัยที่รับรองผลการรักษาในแง่ใดๆทั้งสิ้น ปัจจุบันพบการลักลอบขายน้ำมันกัญชาสกัดในFacebookทำให้มีผู้ป่วยบางรายหรือผู้ที่อยากรู้อยากลองได้ซื้อหาน้ำมันกัญชามาใช้กัน ซึ่งส่วนใหญ่เมือได้ลองใช้แล้วมักมีอาการข้างเคียงเช่นเวียนศรีษะ ใจสั่น หน้ามืด ความดันต่ำจนต้องเข้ามาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลกันหลายราย บางรายทำให้อาการของโรคเดิมทรุดหนักขึ้น บางรายที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วหลงเชื่อคำโฆษณาสรรพคุณของน้ำมันกัญชาว่าใช้รักษาโรคซึมเศร้าได้อาจมีอาการแย่ลงจำเป็นต้องพบจิตแพทย์แผนกจิตเวชฉุกเฉิน ดังนั้นการใช้น้ำมันกัญชาก็ดี การใช้ยาที่มีสารประกอบกัญชาก็ดี ควรใช้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และใช้ในการดูแลของแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนไทยเท่านั้น